Premenstrual syndrome (PMS) or Premenstrual dysphoric disorder (PMDD) กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน
เคยสงสัยมั้ย? โดยเฉพาะคุณผู้ชายที่ในช่วงก่อนวันนั้นของเดือน คุณจะถูกเปลี่ยนสถานะไปเป็น “สนามอารมณ์” ของสาวๆ ใกล้ตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ
บางทีพวกเธออาจจะทั้งรู้และไม่รู้ตัว แต่พวกเธอก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแบบนั้นหรอกนะคะ แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้าเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับช่วงประจำเดือน
“รู้สึกกระสับกระส่าย โกรธเก่ง เหวี่ยงง่าย อ่อนไหว ไปจนถึงอาการเจ้าน้ำตาเหมือนกำลังดูฉากเศร้าจากซีรีย์ในเน็ตฟลิกซ์เรื่องดัง”
สิ่งเหล่านี้จัดเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือ Premenstrual Syndrome (PMS) ซึ่งมักจะเกิดในช่วงระยะหลังไข่ตก และหายไปหลังจากมีประจำเดือน แล้ววนกลับมาใหม่ในทุกๆเดือน สาเหตุของมันคาดว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเซโรโทนินและฮอร์โมนในเพศหญิงในช่วงก่อนจะมีประจำเดือน โดยกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแต่ทางด้านจิตใจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทางด้านร่างกาย และ พฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ อีกด้วย ยกตัวอย่าง เช่น การนอนไม่หลับ ความอยากอาหารที่เปลี่ยนไป ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ คัดตึงบริเวณเต้านม เป็นสิวขึ้นตามใบหน้า อาการชวนน่าหงุดหงิดเหล่านี้นี่เองที่ทำให้สาวๆ บางคนเกิดความรู้สึกกระวนกระวายจนแทบทนไม่ได้
ปัจจัยสำคัญในการวินิจฉัยว่าอาการเหล่านี้เป็นภาวะ PMS จะต้องมีอาการทั้งทางด้านร่างกาย และ ทางอารมณ์ เกิดขึ้นทั้งสองอย่างพร้อมกัน โดยจะต้องไม่มีปัญหาทางด้านจิตเวชร่วมด้วย
ในส่วนของกระบวนการของการรักษานั้น ทางแพทย์แผนปัจจุบันก็มีตัวเลือกหลากหลาย ในส่วนของการให้ยาที่สามารถพบได้ทั่วไปแพร่หลายก็เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพื่อควบคุมการตกไข่ และระดับของฮอร์โมน , ยากลุ่มฮอร์โมนแอนโดรเจน เพื่อบรรเทาอาการปวดอุ้งเชิงกราน หรือ แผ่นแปะผิวหนัง กลุ่ม Estradiol เพื่อบรรเทากลุ่มอาการคลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น เป็นต้น
หรือในกลุ่มการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ก็ยังมีสาร Isoflavones ที่สามารถพบได้ในกลุ่มถั่วเหลือง ถั่วเน่า น้ำเต้าหู้ โดย Isoflavones มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและเป็นสารธรรมชาติที่ทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง ซึ่งช่วยแก้อาการปวดไมเกรนในช่วงมีประจำเดือนได้ หรือสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธที่ใช้การอย่างแพร่หลายในกลุ่มการแพทย์ทางเลือกในทวีปยุโรปและอเมริกา เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาความผิดปกติทางอารมณ์โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ
อ่านมาจนถึงตอนนี้ทุกคนอาจจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ เพิ่งจะเกิดขึ้นมาได้ไม่นานนัก แต่เปล่าเลย สิ่งนี้อยู่คู่กับผู้หญิงมานานมากแล้ว โดยในทางการแพทย์แผนจีนนั้นก็มีการกล่าวถึงอาการเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความไม่สมบูรณ์ของธาตุกำเนิดของร่างกาย ความพร่องหรือแกร่งของระดับหยินหยางและเลือดลมปราณ หรือจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมการดำรงชีวิต จนทำให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายเกิดความไม่สมดุลกัน โดยส่วนใหญ่อวัยวะที่ได้รับผลกระทบมักจะเป็น ตับ ไต และ ม้าม ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการการสร้างประจำเดือนทั้งสิ้น อาการต่างๆ เหล่านี้สามารถรักษาได้ทั้งการให้ยาสมุนไพรจีนตำรับต่างๆ การฝังเข็ม หรือหัตถการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับร่างกาย เพราะฉะนั้น อย่าได้น้อยใจไป เหล่าผู้ชายในอดีตก็ล้วนเป็นสนามอารมณ์ของสาวๆ เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี ยังมีทางป้องกันและรักษาอาการเหล่านี้ง่ายๆอยู่ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกกอฮอร์ ในช่วงที่ใกล้จะมีประจำเดือน
- ทานอาหารที่มีปริมาณสารแคลเซียม และ แมกนีเซียมสูง เช่น ถั่วและธัญพืช ผักใบเขียว ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น
- ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด หรือทำการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนรอบตัวถึงสภาวะที่เป็นในช่วงที่เกิดอาการเหล่านี้ขึ้น
แต่ถ้าอาการเหล่านี้ยังกวนใจของคุณอยู่ หรือทำอย่างไรอาการเหล่านี้ก็ยังไม่ดีขึ้น หยินหยางคลินิกก็พร้อมเสมอที่จะรับฟังและดูแลคุณนะคะ อ้างอิงจาก https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/6891/
ทำนัดปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ 094-794-6006
หรือ เข้าเยี่ยมชม Facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/chenyinyangclinic
หยินหยางคลินิก 999/1-2 ถนนรัชดา-รามอินทรา แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพ 10230
☯️ หยินหยางคลินิกพร้อมให้คำปรึกษาในวัน
อังคาร-ศุกร์ : 11:00 – 19:00
เสาร์ : 9:00 – 17:00
อาทิตย์ : 9:00 – 12:00 หยุดทุกวันจันทร์